
EN | TH
การจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม

การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการบริหารจัดการเพื่อควบคุมผลกระทบทางด้านการเงิน ด้านสังคม และความเสี่ยงทางด้านชื่อเสียง BDMS จึงกำหนดนโยบายและระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทิศทางการจัดการทรัพยากรและการจัดเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างเป็นระบบ สามารถใช้ข้อมูลในการพัฒนาผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเปิดเผยข้อมูลเพื่อแสดงความมุ่งมั่นและความโปร่งใสต่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้มีส่วนได้เสีย
นโยบายสิ่งแวดล้อม BDMS EARTH HEALTHCARE
เพื่อแสดงความมุ่งมั่นและเป็นแนวทางสำหรับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกำหนดฝ่ายสนับสนุนทั่วไปร่วมกับสายการบริหารทรัพยากรบุคคลกลางกำหนดแผนการสื่อสารนโยบายแก่บุคลากรทุกคนเพื่อความเข้าใจตรงกันและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตามนโยบายดังกล่าว
นโยบายการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้วยความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม BDMS จึงดําเนินธุรกิจโดยคํานึงถึงการดูแลสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาแบบคาร์บอนตํ่าเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้น้อยที่สุด โดยมีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ของเสีย และการใช้น้ำไว้อย่างชัดเจน ตามหลักเกณฑ์และคําแนะนําของ Science Based Targets (SBTi) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสที่จํากัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และให้ถึงสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 จึงได้กําหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้
1. ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานข้อกำหนดทางกฎหมาย โดยสอดคล้องกับประเด็นระดับโลกและคำนึงถึงประเด็นระดับท้องถิ่นตามแนวปฏิบัติการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2. ประเมินหาประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Materiality) พร้อมทั้งกำหนดดัชนีชี้วัดที่สำคัญและกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดำเนินงาน
3. ดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับการเลือกใช้วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้น้อยที่สุด
4. ส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่อุปทาน
5. พัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดําเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดกระบวนการการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม
6. เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานที่มีคาร์บอนตํ่าภายในบริษัท
7. ดําเนินมาตรการส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ เลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากการจัดการของเสีย
8. สนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
9. สื่อสารและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่พนักงาน คู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง
10. เปิดเผยผลการดําเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมผ่านรายงานความยั่งยืนหรือรายงานการเปิดเผยข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทราบเป็นประจําทุกปี
โครงการ BDMS Green Healthcare

เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการโรงพยาบาลอย่างยั่งยืน BDMS จึงได้จัดโครงการ BDMS Green Hospital เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายองค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593 และเพื่อประเมินแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลและบริษัทในเครือ BDMS โดยจะคัดกรองความสมบูรณ์ของกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม BDMS Earth Healthcare กลยุทธ์องค์กรด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมุมสิ่งแวดล้อม และกรอบดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ BDMS ซึ่งครอบคลุมแนวทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไปและในบริบทของธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล ร่วมด้วยมาตรฐานความเป็นผู้นำด้านการออกแบบที่อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Leadership in Energy & Environmental Design: LEED) ซึ่ง BDMS ได้เตรียมความพร้อมต่อการเข้ารับการรับรอง LEED ของแต่ละโรงพยาบาลและบริษัทในอนาคต
การตรวจสอบพลังงานของ BDMS
การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน BDMS ได้จัดให้มีคณะทำงานดำเนินกิจกรรมการจัดการพลังงานเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งผ่านรายงานการจัดการพลังงาน รวมถึงการติดตามและรายงานการใช้พลังงาน การดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานและการฝึกอบรมการอนุรักษ์พลังงาน โดยรายงานการจัดการพลังงานของ BDMS ได้รับการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบด้านพลังงานซึ่งเป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ด้วยการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับการใช้พลังงานของเรา BDMS สามารถตรวจสอบประสิทธิผลของมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่นำมาใช้ในอาคารและระบุจุดที่ต้องปรับปรุงในการประหยัดพลังงาน ในปี 2566 จากการตรวจสอบประสิทธิผลของการประหยัดพลังงาน BDMS สามารถลดการใช้พลังงานได้ 3.55MWh.
การจัดอบรบเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม
BDMS ให้ความสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านการจัดการพลังงาน การจัดการของเสียและการจัดการขยะให้แก่พนักงาน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามนโยบายการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ BDMS โดยได้รับเกียรติจากตัวแทนจากโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย โรงพยาบาลพญาไท 2 โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์และบริษัท สหแพทย์เภสัช จำกัด มาเป็นวิทยากรแบ่งบันประสบการณ์โครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการและมีผลลัพธ์ชัดเจน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ในรูปออนไลน์ มีพนักงานและคู่ค้าเข้าร่วมอบรม 168 คน

โครงการ BCM Smart Air Quality Control: นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

โครงการ BCM Smart Air Quality Control โดยโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ ถือเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเริ่มจากการแก้ปัญหาระบบเติมอากาศแบบดั้งเดิมที่ใช้พลังงานสิ้นเปลือง ด้วยการนำเทคโนโลยี IoT มาติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น CO2 และ PM2.5 โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งขึ้น Cloud และแสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่าน Web board ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน ASHRAE 2021และสามารถควบคุมการทำงานของระบบอากาศโดยอัตโนมัติ ช่วยลดการใช้พลังงาน และต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายใต้แนวทางความยั่งยืนของ BDMS โครงการนี้ ยังเน้นการดูแล ประเมินผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่สำคัญของโรงพยาบาล เช่น ห้องพักผู้ป่วย ห้องเตรียมยา และโถงลิฟต์ เป็นต้น เมื่อพบค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน ซึ่งมักเกิดจากการรั่วไหลของอากาศผ่านระบบ Dump Waiter ทีมวิศวกรรมได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องกรองอากาศ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นที่ เพื่อป้องกันการรั่วซึมของฝุ่น พร้อมทั้งใช้ระบบ AI และ Cloud Computing มาช่วยวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพอากาศให้เหมาะสม

โครงการนี้สอดคล้องกับหลัก ESG โดยเฉพาะด้านสังคม
1. การประเมินผลกระทบต่อชุมชน: มีการเก็บข้อมูลทางเทคนิคและผลสำรวจความพึงพอใจ โดยมีผู้ใช้อาคาร
พึงพอใจในระดับสูงถึง 73.69%
2. การดูแลชุมชนอย่างต่อเนื่อง: มีการติดตามคุณภาพอากาศรายวันและปรับปรุงระบบตามสถานการณ์
3. การแก้ไขและลดผลกระทบ: ดำเนินการปรับปรุงด้านวิศวกรรมและการบริหารจัดการระบบอากาศอย่างทันท่วงที
ผลลัพธ์เชิงปริมาณของโครงการ
1. ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่อาคารและพยาบาล
2. ลดการใช้กระดาษได้ 1,320 แผ่นต่อปี
3. ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จาก 1.32 ตัน เหลือเพียง 0.66 ตันต่อปี
4. ระยะเวลาคืนทุนเพียง 1.8 ปี
5. ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึง 124,350 บาทต่อปี
ในอนาคต โครงการ BCM Smart Air Quality Control มีแผนขยายการดำเนินงานไปยังโรงพยาบาลอื่นในเครือ BDMS และพื้นที่ส่วนต่อขยายของอาคาร เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลอัจฉริยะที่สนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
การประเมินความเสี่ยงและโอกาส ด้านสภาพภูมิอากาศตามกรอบแนวทางของ TCFD
BDMS ได้ทำการศึกษาและกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งการกำหนดนโยบายและเป้าหมายที่ครอบคลุมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย การลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงและโอกาสด้านสภาพภูมิอากาศ โดยในอนาคตจะมีการจัดทำ Scenario Analysis ตามแนวทางของ Task Force on Climate-Related Financial Disclosure (TCFD) ซึ่งจะมีการจัดทำแผนงานที่ครอบคลุมรอบด้าน เช่น ความเสี่ยงด้านกายภาพ เทคโนโลยี การตลาดนโยบาย กฎข้อบังคับ ชื่อเสียงองค์กร ฯลฯ
กรอบการดำเนินงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
