Health Innovation

นวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งความยั่งยืน

 

แนวทางการจัดการนวัตกรรมภายใน BDMS มีเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมภายในองค์กรที่ส่งเสริมต่อการเกิดนวัตกรรมในทุกมิติ ผ่านการสร้างคน โครงสร้างองค์กร และสนับสนุนทรัพยากรด้านนวัตกรรม โดยแนวทางการสร้างนวัตกรรมเริ่มจากการวิเคราะห์ประเด็นปัญหากระบวนการทำงาน (Empathize & Define) เพื่อให้เข้าใจความต้องการและสิ่งที่ต้องการปรับปรุงจากแนวทางการทำงานเดิม จากนั้นจึงเป็นกระบวนการออกแบบนวัตกรรมแก้ไขปัญหาจากกระบวนการทำงานที่พบ (Ideate) เพื่อให้นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นสามารถตอบสนองความต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียของกระบวนการทำงานดังกล่าว ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ (Prototype) ผ่านการร่วมมือกันระหว่างบุคลากรผู้ใช้งานและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงทดสอบการใช้งานผ่านพื้นที่ทดลอง (Test) เพื่อให้มั่นใจประสิทธิภาพนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นจากการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุดจึงเป็นการนำโครงการนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นไปใช้จริงในกระบวนการทำงานและประเมินผลลัพธ์ประสิทธิภาพการทำงานภายใน BDMS ทั้งนี้ การสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กร ประกอบด้วย  

  • การลงทุนเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างหรือเพิ่มทักษะในการสร้างนวัตกรรม
  • การสร้างพื้นที่พบปะและค้นคว้าเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมของพนักงาน
  • การจัดสรรอัตรากำลังและระดับภาระงานที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมของบุคลากร
  • การประกาศเกียรติคุณแก่พนักงานผู้มีความสามารถด้านนวัตกรรมและส่งเสริมสนับสนุนต่อยอดความสามารถด้านนวัตกรรม

 

กลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรม

BDMS บริหารจัดการนวัตกรรมโดยกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองต่อกลยุทธ์องค์กรและกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรม โดยอาศัยความร่วมมือกับองค์กรทั้งในระดับประเทศและระดับสากลเพื่อดำเนินแผนการปรับตัวเข้าสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะและมุ่งสู่การเป็นผู้นำการให้บริการด้านสุขภาพนวัตกรรมครบวงจรในปี 2566 ทั้งนี้ เพื่อส่งมอบประสบการณ์การด้านบริการทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพสูงสุด อันจะนำไปสู่การและพัฒนาประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง